บึงทุ่งกะโล่

บึงทุ่งกะโล่ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เพื่อการเกษตรของจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ะโล่บนพื้นที่สาธารณประโยชน์ ในเขตตำบลป่าเซ่า ครอบคลุมบางส่วนถึงตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวมประมาณ 7,500 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีพื้นที่เก็บกักน้ำถูกขุดลอกเพื่อใช้ในภาคการเกษตรและอุปโภคบริโภคอยู่ด้านทิศตะวันออกบึงกะโล่ ในอดีตก่อนการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เป็นพื้นที่รองรับน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำน่านไหลผ่านเข้ามาเก็บกักไว้ในช่วงหน้าฝน ปัจจุบันเป็นแหล่งที่พักอาศัยของนกน้ำประจำถิ่นและนกน้ำอพยพตามฤดูกาลจำนวนมาก และเป็นแหล่งดูนกหายากที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ[1]ในอนาคต ทางราชการมีโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบบึงแห่งนี้เพื่อขยายสถาบันการศึกษาและสร้างศูนย์ราชการแห่งใหม่ เนื่องจากพื้นที่ตัวเมืองอุตรดิตถ์เก่าเริ่มคับแคบและเสี่ยงต่อปัญหาอุทกภัย

ตำนานบึงทุ่งกะโล่

บึงกะโล่มีตำนานเล่าขานมากมาย คนที่อาศัยอยู่โดยรอบแถบนี้ เช่น คนในแถบทุ่งบ้านคุ้งตะเภามีเรื่องเล่ากันมาว่าที่ตั้งบึงกะโล่เคยเป็นเมืองโบราณมาก่อนแต่เมืองล่มกลายเป็นบึงเมื่อใดไม่ปรากฏ และคนในหมู่บ้านห้วยบงซึ่งเป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ไม่ถึงร้อยปีก็มีการกล่าวตำนานสนับสนุนสอดคล้องกับความเชื่อดังกล่าว โดยเล่าสืบมาว่าเคยมีคนในหมู่บ้านเข้าไปหาปลาในกลางบึงแต่ไปพบกับซากเมืองเป็นอิฐและสิ่งก่อสร้างโบราณมากมาย แต่เมื่อกลับมาบอกคนในหมู่บ้านให้เข้าไปดูก็ไม่สามารถหาซากเมืองดังกล่าวพบ[2] โดยในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2553 น้ำในบึงแห้งขอด ประกอบกับชาวบ้านได้จุดไฟเผาต้นกกและต้นอ้อที่ขึ้นปกคลุมบึงจนหมด ทำให้มีการค้นพบซากสิ่งก่อสร้างโบราณและโบราณวัตถุจำนวนมาก[3]ปัจจุบันทางด้านทิศใต้ของบึงได้มีการสร้างศาลเจ้าพ่อกะโล่ไว้ด้วย โดยมีความเชื่อว่าเป็นเทวดาผู้รักษาคุ้มครองอาณาเขตรอบบึงแห่งนี้

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B9%88